เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีทั้งคนพิการและไม่พิการ ซึ่งกำลังทำงานด้านสื่อเพื่อการพัฒนาคนพิการ

Disability arts

อ่านบทความ Disability arts ในคลังบทความเดือนสิงหาคม

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability arts)


มนุษย์สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นเพื่อสร้างศรัทธา สร้างจิตสำนึกคุณธรรม จรรโลงใจ การศึกษา สื่อสาร นันทนาการ อาชีพและแทบจะทุกอย่าง ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่มิติด้านกายภาพจับต้องได้ จนถึงมิติเชิงนามธรรม การให้คุณค่าความหมายและจิตวิญญาณ ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มคนพิการ (Disability rights movement)ได้สัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของศิลปะในชีวิต ศิลปะเอื้อให้คนพิการเข้าถึงจิตภายในตนเอง และขณะเดียวกันสามารถส่งผ่านความคิดความรู้สึกถึงเพื่อนคนพิการด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กัน ศิลปะยังเป็นสื่อถ่ายทอดความคิดของกลุ่มคนพิการสู่ผู้คนในสังคมวงกว้างเกิดขึ้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability art movement)

ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability arts) เป็นการพัฒนาความหมายเชิงวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มคนพิการ และการแสดงออกถึงประสบการณ์ที่มีต่อความพิการและการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิต อาจนำเสนอในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ความคิดเชิงอคติที่คนพิการพบเจอ สะท้อนประสบการณ์จากการใช้ชีวิตร่วมกับความพิการ หรือท้าทายความคิดของคนพิการและผู้คนในสังคม

จุดมุ่งหมายของศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการอยู่ที่การสร้างผลกระทบเชิงการเมือง ทั้งในระดับตัวปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่มองค์กรของคนพิการและระดับสังคมวงกว้าง นั่นคือการสร้างสำนึกของความเป็นคนพิการ (Disability identity)การเป็นกลุ่มก้อนระหว่างคนพิการด้วยกัน ท้าทายความคิดที่คับแคบของสังคม ความคิดเหมารวม (Stereotype)ที่มีเกี่ยวกับความพิการ และความคิดที่จะรอคอยความพึ่งพิงของคนพิการ นอกจากนี้เป็นการตอบโต้กับความคิดดั้งเดิมที่ว่ากลุ่มคนพิการไม่สามารถร่วมสร้างสรรค์ในโลกของศิลปะได้ คนพิการเป็นเพียงผู้ถูกบำบัดรักษา

ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนพิการด้วยกันเอง เพื่อสร้างสำนึกเกี่ยวกับความพิการที่มีคุณค่าความหมาย และกลุ่มคนในสังคมทั่วไปเพื่อท้าทายทัศนคติดั้งเดิมและสร้างทัศนคติใหม่เชิงบวก
การสร้างงานศิลปะโดยคนพิการเป็นการดึงอำนาจกลับมาอยู่กับกลุ่มคนพิการ โดยให้คนพิการเล่าเรื่องและสร้างค่านิยมใหม่ขึ้นมาเองเพื่อทดแทนภาพลักษณ์เดิมที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนที่ไม่พิการและให้ความหมายความพิการว่าเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสงสาร เคราะห์ร้าย บาปกรรม ความไร้สมรรถนะ และการทำบุญกุศล

ขบวนการศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการมุ่งสร้างให้เกิดสำนึกร่วมของความเป็นกลุ่มของคนพิการ เมื่อคนพิการมารวมตัวกันจะกลายเป็นพลังที่สนับสนุนการเติบโตของการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนพิการให้มีความเข้ทแข็งขึ้น

หากพิจารณาจากมิติด้านการแพทย์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจจำนวนมากไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นคนพิการ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าร่วมในขบวนการทางสังคมนี้จะต้องเกิดสำนึกในเรื่องการเป็นคนพิการ การเข้าร่วมกลุ่มและมุ่งสร้างสังคมที่ยอมรับและอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง









ภาพการ์ตูนโดย David Werner


ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นโดยคนพิการ คนพิการจำนวนมากมีความรักและสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่คนพิการทุกคนอาจไม่ได้ทำงานศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ คนพิการผู้ผลิตงานศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการจะต้องเป็นผู้ที่แสดงตนว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มคนพิการและมีความตั้งใจที่จะนำความรู้สึกหรือประสบการณ์จากความพิการไปใช้ในการสร้างงานศิลปะ ถึงแม้ว่าชิ้นงานนั้นจะไม่ได้เล่าเรื่องของความพิการออกมาโดยตรงก็ตาม แม่ศิลปินจะไม่ได้มีแก่นความคิด (Theme) ในเรื่องเกี่ยวกับความพิการในการทำชิ้นงานศิลปะ แต่ตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจะต้องมีความนึกคิดที่อยู่ในแนวทางที่เรียกว่า "วัฒนธรรมความพิการ" (Disability culture) กลุ่มศิลปินจะไม่ใช่ผู้ที่ยอมจำนนหรือพยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความเชื่อที่เป็นกฏเกณฑ์ของสังคมแบบเดิม ซึ่งทำให้คนพิการต้องรู้สึกอับอายขายหน้าหรือลดคุณค่าความเป็นตัวของตัวเอง แต่ศิลปินจะต้องแสดงออกถึงการยอมรับตนเองและภูมิใจในวิ๔ของตนเองซึ่งมีความพิการร่วมอยู่ด้วย

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงคำว่า "วัฒนธรรม" คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องของภาษา พิธีกรรม ประเพณี สำหรับในกลุ่มของคนพิการการเรียกว่าวัฒนธรรม ไม่ได้ปรากฏชัดในเรื่องทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของการรับรู้จากภายในตัวบุคคล กลุ่มคนพิการจะมีบุคลิกและประสบการณ์บางอย่างที่เหมือนกัน ดังเช่น การรู้สึก "การเป็นคนอื่น" ท่ามกลางกลุ่มคน การพัฒนาทักษะใหม่เพื่อดูแลตัวเองหลังจากมีความพิการ การเติบโตขึ้นในครอบครัวที่ตนเองมีความแตกต่างจากสมาชิกในครอบครัว การรับรู้ว่าผู้คนรอบข้างรู้สึกสงสารหรือเสียใจกับตัวเอง ไม่ว่าคนพิการจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ที่บ้าน หรือมีความพิการตั้งแต่กำเนิดหรือภายหลัง คนพิการทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่เหมือนกันอยู่หลายประการ ความรู้สึกเหล่านี้เองเป็นรากฐานของวัฒนธรรมความพิการวัฒนธรรมความพิการยอมรับว่ามีความแตกต่างระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเสียใจในการดำเนินชีวิต

การสร้างความเติบโตของวัฒนธรรมความพิการก็คือ การเปลี่ยนคนพิการจากการเป็นผู้รอรับและคอยพึ่งพา กลายเป็นผู้ที่กระตือรือร้นและกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างภาพลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับความพิการไปในเชิงบวก

การกล่าวถึงงานศิลปะ อาจเป็นศิลปะในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ กวี จะต้องหมายถึงศิลปะที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความเป็นมืออาชีพและมีมาตรฐาน ความพิการไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ทำให้ละเลยในเรื่องการพิจารณาถึงคุณภาพงานศิลปะได้

ขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปและออสเตรเลีย ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในแวดวงการศึกษาและศิลปะ เพื่อขยายแนวคิด มีโครงการในสถาบันการศึกษาและองค์กรที่ตั้งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการทำงานศิลปะสำหรับกลุ่มคนพิการอย่างหลากหลาย สนับสนุนด้านเงินทุน บุคลากร ความรู้เชิงเทคนิคและอื่นๆ เพื่อให้คนพิการเพิ่มพูนทักษะฝีมือและความคิด พัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ การทำงานขององค์กรจะเปิดรับผู้ที่สนใจทั้งกลุ่มคนพิการและกลุ่มคนไม่พิการ ให้มีการทำงานร่วมกัน การจัดตั้งเครือข่ายศิลปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแจ้งความเคลื่อนไหวของกิจกรรม การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการ เช่น Media AccessAwards ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรางวัลที่ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมบันเทิง ผู้ที่สามารถแสดงภาพลักษณ์ของคนพิการได้อย่างถูกต้อง ใช้สื่อเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม ส่งเสริมโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานและร่วมกิจกรรมในสังคมได้เต็มที่ สถาบันศิลปะบอร์นเม้าท์ (the Arts Institute of Bournemouth)ในประเทศอังกฤษ จะเปิดการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการในปีการศึกษา 2551

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและความพิการในประเทศไทยปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น คือการใช้ศิลปะเพื่อการบำบัด กลุ่มคนพิการมิได้มีการจัดการเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์เชิงสังคมหรือการเมือง ส่วนใหญ่ศิลปะถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการบำบัดรักษาโรค ระบายความรู้สึกหรือผ่อนคลายอารมณ์ที่เรียกว่าศิลปะบำบัด (Art therapy) ดังพบเห็นในสถานพยาบาล สถานศึกษา มูลนิธิที่จัดบริการฝึกอาชีพให้แก่คนพิการ สถานสงเคราะห์

กลุ่มละครใบ้ของกลุ่มคนหูหนวกมีความน่าสนใจและเป็นสื่อสะท้อนมุมมองของกลุ่มคนหูหนวกที่มีต่อเรื่องราวความเป็นไปในสังคมบางคราวการแสดงละครที่แสดงให้ดูภายในกลุ่มคนหูหนวกด้วยกันมีเนื้อหาเป็นความบันเทิงผสมกับการเสียดสีเกี่ยวกับเรื่องในองค์กรหรือการใช้ชีวิตของคนหูหนวก












กลุ่มคนพิการใช้ศิลปะการแสดงเพื่อส่งเสริมให้คนพิการแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนพิการเข้ากับผู้คนในสังคม ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความพิการ โดยที่สมาชิกในกลุ่มจะเป็นคนพิการและคนไม่พิการทำงานร่วมกัน

การแสดงนิทรรศการ "ศิลปะดำรงชีวิตอิสระ Art for Independent Living" หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2551 ของกลุ่มสมาชิกในขบวนการการดำรงชีวิตอิสระคนพิการเป็นการพยายามที่จะสื่อสารวิถีการดำรงชีวิตของคนพิการระดับรุนแรงออกสู่สังคมวงกว้าง งานบางชิ้นถูกใช้ถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงออกถึงประสบการณ์จากความพิการ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วเห็นว่าผู้ชมยังไม่สามารถรับสาส์นที่ต้องการสื่อออกมาผ่านงานศิลปะได้ตามที่คาดหวัง รวมทั้งอาจเห็นเพียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัดคนพิการรุนแรง
อย่างไรก็ดี กลุ่มยังคงต้องการการสั่งสมด้านทักษะ การสร้างความคิดที่คมชัดเชิงสังคมและการเมือง ตลอดจนการพัฒนาเชิงจิตวิญญาณ หากต้องการพัฒนาไปสู่การสร้างงานในเชิงศิลปะว่าด้วยความพิการต่อไปในอนาคต


ศิลปะประติมากรรมหินอ่อน สูง 11 ฟุต 6 นิ้ว 'Alison Lapper Pregnant' ได้รับการคัดเลือกให้ติดตั้งแสดงที่จตุรัสทราฟังกร้า เมืองลอนดอนระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 - เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 แมคควิน ศิลปินชาวอังกฤษ ปั้นรูปของ อลิสัน แลปเปอร์ เพื่อนศิลปินผู้ไม่มีแขนและมีช่วงขาที่สั้น ตอนที่ตั้งครรภ์ 8 เดือน และกล่าวให้อลิสันเป็นสัญลักษณ์ของฮีโร่หญิงยุดใหม่ที่มีความเข้มแข็งและเปี่ยมด้วยความหวัง ซึ่งสร้างความรู้สึกตรงกันข้ามกับรูปปั้นของ 'Boudicca' ซึ่งเป็นการแสดงถึงชัยชนะของผู้ชาย ที่ตั้งอยู่บริเวณตรงกันข้ามในจตุรัส แมคควิน ต้องการนำเสนอทั้งในเรื่องของสตรี ความพิการ และความเป็นแม่


















แมท ซีซอว์ (Matt Sesow) ศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวว่าพลังผลักดันในการทำงานของเขามาจากความพิการของตนเอง ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุในวัยเด็กและต้องตัดแขนข้างซ้ายออก หลังจากที่แมทเริ่มวาดรูป เขาเริ่มมีความเชื่อมั่นและเลิกใส่แขนเทียม เขารู้สึกมีอิสระ ไม่ต้องพยายามเสแสร้งแสดงในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง ผลงานของแมทกล่าวถึงเรื่องในชีวิตของเขา ตลอดจนถึงเรื่องสังคม การเมือง









































ทันย่า ราบี้ (Tanya Raabe) ศิลปินชาวอังกฤษ ใช้งานวาดภาพ portrait เพื่อท้าทายความคิดเรื่องความงาม ความสมบูรณ์แบบและความเป็นปกติที่คนในสังคม "ต้องมี" ดังในชื่องาน Me myself and I, Ann in conference ส่วนงานชุด Who's Who-Defining Faces of an Arts Movement : Faces เป็นการมองใบหน้าของเพื่อนศิลปินที่อยู่ในขบวนการ Disability Art Movement และแสดงความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนเหล่านั้น





















"Great Britain from a Wheelchair" โดย โทนี่ ฮีตัน (Tony Heaton) ศิลปินชาวอังกฤษ รูปแผนที่ประเทศอังกฤษที่ทำขึ้นจากรถเข็นจากโรงพยาบาล 2 คัน ความรู้สึกปฏิเสธที่เกิดขึ้นจากผู้ชมงานสะท้อนถึงการตัดสินให้คุณค่าที่มีอยู่โดยปริยายต่อรถเข็น

















Parking Zone for Disabled โดย Sofia Youshi ศิลปินชาวยุโรป แนวคิด : ความพิการเป็นผลกระทบเชิงสังคมต่อความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขจัดอุปสรรคสิ่งกีดขวางในสังคมทั้งด้านสถาปัตยกรรม การสื่อสาร ทัศนคติและกฏระเบียบ ซึ่งกั้นไม่ให้คนพิการเข้าร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่










บทความจากนิตยสาร Fine Art , Vol.5 , No.44 , June 2008
ตัวอย่างและภาพประกอบโดย กมลพรรณ พันพึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น