เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีทั้งคนพิการและไม่พิการ ซึ่งกำลังทำงานด้านสื่อเพื่อการพัฒนาคนพิการ

Disability arts

อ่านบทความ Disability arts ในคลังบทความเดือนสิงหาคม

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

Disability arts ในความเห็นของ ทนง โคตรชมภู

จดหมายจากวัชระ

สวัสดีครับอาจารย์ทนง

ผมชื่นชมอาจารย์อย่างยิ่งจากการที่ได้รับทราบข้อมูลจากหลายๆ สื่อ ทั้งรายการโทรทัศน์ บทความของคุณวินทร์ และจากทางอินเตอร์เน็ต

ผมได้ทราบเรื่องแนวคิด Disability arts จากอาจารย์กมลพรรณ พันพึ่ง ซึ่งเมื่อได้พูดคุยกันแล้วก็มีความคิดตรงกันว่า ในเมืองไทยน่าจะมีการทำเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ ตอนนี้ผมก็เลยจะรวบรวมความคิดเห็น คำแนะนำจากหลายๆ ท่าน เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการทำงานครับ จึงอยากจะรบกวนขอความเห็นจากอาจารย์ ดังนี้

๑. งานของอาจารย์ที่ผ่านมา มีบ้างไหมครับ ที่สะท้อนความคิดที่เกิดจากความพิการออกมา (ถ้ามีรบกวนยกตัวอย่างเพื่ออธิบายด้วยครับ)

๒. ในความคิดของอาจารย์ การที่คนพิการจะสะท้อนความคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันเกิดมาจากความพิการ สามารถแสดงออกในมุมไหนได้บ้าง

ถ้าไม่เป็นการรบกวนอาจารย์จนเกินไป ช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

นับถือ
วัชระ คุณานุพงศ์


จดหมายจากอาจารย์ทนง โคตรชมภู

1.ก็มีครับแค่เป็นการเขียนแฝงไว้อย่างเช่นภาพชื่อ วัฏจักรแห่งฤดูกาล ซึ่งผมเขียนดอกไม้ของสามฤดู ดอกไม้แทนความสุข ทุกฤดูดอกไม้บานสพรั่ง นอกจากดอกไม้ในฤดูหนาว ที่ผมสื่ออกมาอย่างนั้นเพราะอาการป่วย ความพิการของผมจะกลัวความหนาวเย็น

2.ส่วนใหญ่ผู้พิการ จะไม่ค่อยสะท้อนปมด้อยของตัวเองเท่าใดนัก

Disability arts ในความเห็นของ วินทร์ เลียววาริณ

จดหมายจากวัชระ

สวัสดีครับพี่วินทร์

ผมพบเรื่องราวของคนพิการมากมายในบทความของพี่วินทร์ เคยลอบเอาไปใช้ในงานบ้าง (ผมทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับคนพิการ)ตอนนี้กำลังสนใจเรื่อง Disability arts

ผมมีคำถามที่จะรบกวน ดังนี้ครับ
๑. พี่วินทร์มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิด Disability arts
๒. ผมเคยเห็นตัวอย่างงานแนวนี้ของต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียน ประติมากรรมและสื่อผสม อยากทราบว่า ความน่าจะเป็นของงานแนวนี้ในแขนงอื่นๆ เช่น งานเขียน ภาพถ่าย งานกราฟิค เพลง หนัง ฯลฯ ในทัศนะของพี่วินทร์เป็นเช่นไร
๓. ถ้าจะตีความแนวคิดนี้ให้รวมไปถึงการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนพิการที่มีต่อเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น เรื่องความรัก พี่วินทร์คิดว่า จะหลุดกรอบของแนวคิดหรือไม่ครับ

ถ้าไม่รบกวนจนเกินไป โปรดให้คำชี้แนะด้วยครับ

นับถือ
วัชระ คุณานุพงศ์

ปล. งานเขียนของพี่ คือแรงบันดาลใจให้กับคนพิการอีกมากมายเลยครับ


จดหมายตอบจากวินทร์

คุณวัชระครับ

ขอบคุณที่ส่งข่าว เป็นความรู้ใหม่

ข้อความที่คุณยกมาจากนิตยสาร Fine Art ก็ครอบคลุมชัดเจนดีแล้วครับ ผมเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย นั่นคือ ความพิการก็เป็นธีมหนึ่งที่ศิลปะเล่นได้ ไม่ต่างจากความยากจน การด้อยโอกาส คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การขาดโอกาสทางการศึกษา โรคภัย ฯลฯ ไม่ว่าศิลปะสายไหนก็เล่นได้ครับ ไม่ถูกจำกัดว่าต้องเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม

ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของคนพิการ ก็เป็นเรื่องเดียวกับคนด้อยโอกาสหรือคนมีปัญหาในวงการอื่น เพราะเป็นปฏิกิริยาของคนต่อสภาวะภายนอกที่ประสบ

ขอบคุณครับ
วินทร์

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

ฮีอา ลี กับนิ้วทั้งสี่ : วินทร์ เลียววาริณ

เด็กสาวคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้บุนวมหน้าเปียโนตัวใหญ่

เธอยิ้มและลงมือพรมนิ้วบนคีย์เปียโนอย่างคล่องแคล่ว ดนตรีของเบโธเฟนบทนั้นพลันฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง กระแสเพลงแผ่วพลิ้วเพริดแพร้วไปทั่วห้อง ผู้ฟังทั้งห้องถูกสะกดด้วยมนต์ดนตรี

เมื่อโน้ตตัวสุดท้ายของเพลงจางหาย เสียงปรบมือกึกก้องกังวานแทนที่

เธอไม่ได้ลุกขึ้นมาโค้งรับ เธอลุกขึ้นยืนไม่ได้

เธอไม่มีขา

แต่ที่ทำให้ทุกคนตะลึงงันกว่านั้นก็คือ มือแต่ละข้างของเธอมีเพียงสองนิ้ว


ฮีอา ลี เป็นเด็กสาวเกาหลีวัยยี่สิบ รู้จักกันทั่วโลกในฉายา 'นักเปียโนสี่นิ้ว' เธอเกิดมาพิการเนื่องจากมารดากินยาผิดขนาดเมื่อตั้งท้องเธอ เธอเริ่มเล่นเปียโนเมื่อเจ็ดขวบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้นิ้วมีแรง เนื่องจากเวลานั้นแม้แต่การปากกา เธอยังทำไม่ได้ ตั้งแต่นั้นเปียโนเป็นมากกว่าเครื่องออกกำลังกาย เป็นเพื่อนผู้ปลอบประโลม เป็นแรงบันดาลใจ

แล้วสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้คือเธอสามารถใช้นิ้วพิการบรรเลงเพลงที่สวยงาม เธอเล่นเพลงของ เบโธเฟน โมสาร์ท โชแปง โยฮันส์ บราห์มส์ ชูเบิร์ต ฯลฯ คล่องแคล่ว พลิกพลิ้ว ดนตรีของเธอทะลุผ่านข้อจำกัดทางกายภาพและวิญญาณ สี่นิ้วของเธอมิได้เป็นอุปสรรคขวางเธอกับบทเพลง เธอมีโอกาสเล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก แน่นอนเธอได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่สำหรับเด็กสาวพิการ รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้มากกว่าชื่อเสียง

. . . . .

ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งสอง กองทัพเยอรมนีกวาดยุโรปราบอย่างรวดเร็ว ประเทศอังกฤษพลันพบว่าตนเองรบอย่างโดดเดี่ยว นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ ประกาศต่อสู้จนเลือดหยดสุดท้าย

กลางความท้อแท้ของชนทั้งชาติ เสียงของเชอร์ชิลล์ผ่านวิทยุกระจายเสียงให้กำลังใจผู้คน ปลุกขวัญให้สู้กับอำนาจที่มาราวี

เมื่อทั้งชาติตั้งปณิธานไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาด พวกเขาก็กลายเป็นน้ำน้อยที่เอาชนะไฟจนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

. . . . .

โลกเรามีคนพิการมากมายที่พิการเพียงกาย ใจไม่พิการ

พึ่งตนเอง ไม่โทษชะตา ทำงานหนักเพื่อทดแทน เพราะรู้ว่าบ่นไปก็ทำให้ความพิการหายไปไม่ได้

เอาพลังงานการบ่น การคร่ำครวญว่าชีวิตไม่ยุติธรรมไปเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอย่างเป็นรูปธรรมดีกว่า

ที่น่าแปลกก็คือ ธรรมชาติมักทดแทนความไม่สมบูรณ์ให้สมดุลเสมอ เช่น คนตาบอดมักหูไวกว่าคนทั่วไป มันฝังอยู่ในสัญชาตญาณเอาตัวรอด หากคนพิการสามารถเป็นนักกีฬาโอลิมปิก นักเขียน นักดนตรีชั้นเลิศ หากความเป็นเลิศเกิดขึ้นได้ในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำไมคนร่างกายครบสามสิบสองอย่างเราจะทำเช่นนั้นไม่ได้?

อุปสรรคที่แท้จริงมิได้อยู่ที่ร่างกายพิการ แต่ตรงจิตใจที่ไม่สู้

มองดูธรรมชาติ พบว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หินสวยริมหาดทราบแต่ละก้อนเกิดจากการกัดเซาะมาอย่างยาวนาน จากทรงขรุขระเป็นก้อนกลมรี

เมื่อพิการก็อย่าทำตัวให้พิการมากกว่าร่างกาย ลองมองว่า ความยากลำบากเป็นการบ่มเพาะตนเอง

เมื่อไม่พิการ ยิ่งอย่าทำตัวให้พิการทางใจ

ฮีอา ลี บอกว่า "ฉันหวังว่าจะมีคนที่ได้แรงบันดาลใจจากการเล่นเปียโนของฉันว่า ใช่ ฉันทำได้"

กำลังใจและการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงสามารถพาใครก็ตามก้าวพ้นกำแพงที่สูงที่สุดในโลก

. . . . . . . .

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com