เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีทั้งคนพิการและไม่พิการ ซึ่งกำลังทำงานด้านสื่อเพื่อการพัฒนาคนพิการ

Disability arts

อ่านบทความ Disability arts ในคลังบทความเดือนสิงหาคม

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

Disability arts ในความเห็นของ ทนง โคตรชมภู

จดหมายจากวัชระ

สวัสดีครับอาจารย์ทนง

ผมชื่นชมอาจารย์อย่างยิ่งจากการที่ได้รับทราบข้อมูลจากหลายๆ สื่อ ทั้งรายการโทรทัศน์ บทความของคุณวินทร์ และจากทางอินเตอร์เน็ต

ผมได้ทราบเรื่องแนวคิด Disability arts จากอาจารย์กมลพรรณ พันพึ่ง ซึ่งเมื่อได้พูดคุยกันแล้วก็มีความคิดตรงกันว่า ในเมืองไทยน่าจะมีการทำเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ ตอนนี้ผมก็เลยจะรวบรวมความคิดเห็น คำแนะนำจากหลายๆ ท่าน เพื่อประกอบเป็นแนวทางในการทำงานครับ จึงอยากจะรบกวนขอความเห็นจากอาจารย์ ดังนี้

๑. งานของอาจารย์ที่ผ่านมา มีบ้างไหมครับ ที่สะท้อนความคิดที่เกิดจากความพิการออกมา (ถ้ามีรบกวนยกตัวอย่างเพื่ออธิบายด้วยครับ)

๒. ในความคิดของอาจารย์ การที่คนพิการจะสะท้อนความคิดที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันเกิดมาจากความพิการ สามารถแสดงออกในมุมไหนได้บ้าง

ถ้าไม่เป็นการรบกวนอาจารย์จนเกินไป ช่วยให้คำแนะนำด้วยครับ

นับถือ
วัชระ คุณานุพงศ์


จดหมายจากอาจารย์ทนง โคตรชมภู

1.ก็มีครับแค่เป็นการเขียนแฝงไว้อย่างเช่นภาพชื่อ วัฏจักรแห่งฤดูกาล ซึ่งผมเขียนดอกไม้ของสามฤดู ดอกไม้แทนความสุข ทุกฤดูดอกไม้บานสพรั่ง นอกจากดอกไม้ในฤดูหนาว ที่ผมสื่ออกมาอย่างนั้นเพราะอาการป่วย ความพิการของผมจะกลัวความหนาวเย็น

2.ส่วนใหญ่ผู้พิการ จะไม่ค่อยสะท้อนปมด้อยของตัวเองเท่าใดนัก

Disability arts ในความเห็นของ วินทร์ เลียววาริณ

จดหมายจากวัชระ

สวัสดีครับพี่วินทร์

ผมพบเรื่องราวของคนพิการมากมายในบทความของพี่วินทร์ เคยลอบเอาไปใช้ในงานบ้าง (ผมทำรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับคนพิการ)ตอนนี้กำลังสนใจเรื่อง Disability arts

ผมมีคำถามที่จะรบกวน ดังนี้ครับ
๑. พี่วินทร์มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิด Disability arts
๒. ผมเคยเห็นตัวอย่างงานแนวนี้ของต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียน ประติมากรรมและสื่อผสม อยากทราบว่า ความน่าจะเป็นของงานแนวนี้ในแขนงอื่นๆ เช่น งานเขียน ภาพถ่าย งานกราฟิค เพลง หนัง ฯลฯ ในทัศนะของพี่วินทร์เป็นเช่นไร
๓. ถ้าจะตีความแนวคิดนี้ให้รวมไปถึงการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนพิการที่มีต่อเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น เรื่องความรัก พี่วินทร์คิดว่า จะหลุดกรอบของแนวคิดหรือไม่ครับ

ถ้าไม่รบกวนจนเกินไป โปรดให้คำชี้แนะด้วยครับ

นับถือ
วัชระ คุณานุพงศ์

ปล. งานเขียนของพี่ คือแรงบันดาลใจให้กับคนพิการอีกมากมายเลยครับ


จดหมายตอบจากวินทร์

คุณวัชระครับ

ขอบคุณที่ส่งข่าว เป็นความรู้ใหม่

ข้อความที่คุณยกมาจากนิตยสาร Fine Art ก็ครอบคลุมชัดเจนดีแล้วครับ ผมเห็นด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเห็นเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย นั่นคือ ความพิการก็เป็นธีมหนึ่งที่ศิลปะเล่นได้ ไม่ต่างจากความยากจน การด้อยโอกาส คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม การขาดโอกาสทางการศึกษา โรคภัย ฯลฯ ไม่ว่าศิลปะสายไหนก็เล่นได้ครับ ไม่ถูกจำกัดว่าต้องเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม

ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของคนพิการ ก็เป็นเรื่องเดียวกับคนด้อยโอกาสหรือคนมีปัญหาในวงการอื่น เพราะเป็นปฏิกิริยาของคนต่อสภาวะภายนอกที่ประสบ

ขอบคุณครับ
วินทร์

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2552

ฮีอา ลี กับนิ้วทั้งสี่ : วินทร์ เลียววาริณ

เด็กสาวคนหนึ่งนั่งบนเก้าอี้บุนวมหน้าเปียโนตัวใหญ่

เธอยิ้มและลงมือพรมนิ้วบนคีย์เปียโนอย่างคล่องแคล่ว ดนตรีของเบโธเฟนบทนั้นพลันฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง กระแสเพลงแผ่วพลิ้วเพริดแพร้วไปทั่วห้อง ผู้ฟังทั้งห้องถูกสะกดด้วยมนต์ดนตรี

เมื่อโน้ตตัวสุดท้ายของเพลงจางหาย เสียงปรบมือกึกก้องกังวานแทนที่

เธอไม่ได้ลุกขึ้นมาโค้งรับ เธอลุกขึ้นยืนไม่ได้

เธอไม่มีขา

แต่ที่ทำให้ทุกคนตะลึงงันกว่านั้นก็คือ มือแต่ละข้างของเธอมีเพียงสองนิ้ว


ฮีอา ลี เป็นเด็กสาวเกาหลีวัยยี่สิบ รู้จักกันทั่วโลกในฉายา 'นักเปียโนสี่นิ้ว' เธอเกิดมาพิการเนื่องจากมารดากินยาผิดขนาดเมื่อตั้งท้องเธอ เธอเริ่มเล่นเปียโนเมื่อเจ็ดขวบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกให้นิ้วมีแรง เนื่องจากเวลานั้นแม้แต่การปากกา เธอยังทำไม่ได้ ตั้งแต่นั้นเปียโนเป็นมากกว่าเครื่องออกกำลังกาย เป็นเพื่อนผู้ปลอบประโลม เป็นแรงบันดาลใจ

แล้วสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้คือเธอสามารถใช้นิ้วพิการบรรเลงเพลงที่สวยงาม เธอเล่นเพลงของ เบโธเฟน โมสาร์ท โชแปง โยฮันส์ บราห์มส์ ชูเบิร์ต ฯลฯ คล่องแคล่ว พลิกพลิ้ว ดนตรีของเธอทะลุผ่านข้อจำกัดทางกายภาพและวิญญาณ สี่นิ้วของเธอมิได้เป็นอุปสรรคขวางเธอกับบทเพลง เธอมีโอกาสเล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก แน่นอนเธอได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย แต่สำหรับเด็กสาวพิการ รางวัลเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้มากกว่าชื่อเสียง

. . . . .

ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งสอง กองทัพเยอรมนีกวาดยุโรปราบอย่างรวดเร็ว ประเทศอังกฤษพลันพบว่าตนเองรบอย่างโดดเดี่ยว นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิลล์ ประกาศต่อสู้จนเลือดหยดสุดท้าย

กลางความท้อแท้ของชนทั้งชาติ เสียงของเชอร์ชิลล์ผ่านวิทยุกระจายเสียงให้กำลังใจผู้คน ปลุกขวัญให้สู้กับอำนาจที่มาราวี

เมื่อทั้งชาติตั้งปณิธานไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาด พวกเขาก็กลายเป็นน้ำน้อยที่เอาชนะไฟจนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

. . . . .

โลกเรามีคนพิการมากมายที่พิการเพียงกาย ใจไม่พิการ

พึ่งตนเอง ไม่โทษชะตา ทำงานหนักเพื่อทดแทน เพราะรู้ว่าบ่นไปก็ทำให้ความพิการหายไปไม่ได้

เอาพลังงานการบ่น การคร่ำครวญว่าชีวิตไม่ยุติธรรมไปเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นอย่างเป็นรูปธรรมดีกว่า

ที่น่าแปลกก็คือ ธรรมชาติมักทดแทนความไม่สมบูรณ์ให้สมดุลเสมอ เช่น คนตาบอดมักหูไวกว่าคนทั่วไป มันฝังอยู่ในสัญชาตญาณเอาตัวรอด หากคนพิการสามารถเป็นนักกีฬาโอลิมปิก นักเขียน นักดนตรีชั้นเลิศ หากความเป็นเลิศเกิดขึ้นได้ในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ทำไมคนร่างกายครบสามสิบสองอย่างเราจะทำเช่นนั้นไม่ได้?

อุปสรรคที่แท้จริงมิได้อยู่ที่ร่างกายพิการ แต่ตรงจิตใจที่ไม่สู้

มองดูธรรมชาติ พบว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ หินสวยริมหาดทราบแต่ละก้อนเกิดจากการกัดเซาะมาอย่างยาวนาน จากทรงขรุขระเป็นก้อนกลมรี

เมื่อพิการก็อย่าทำตัวให้พิการมากกว่าร่างกาย ลองมองว่า ความยากลำบากเป็นการบ่มเพาะตนเอง

เมื่อไม่พิการ ยิ่งอย่าทำตัวให้พิการทางใจ

ฮีอา ลี บอกว่า "ฉันหวังว่าจะมีคนที่ได้แรงบันดาลใจจากการเล่นเปียโนของฉันว่า ใช่ ฉันทำได้"

กำลังใจและการฝึกฝนอย่างหนักหน่วงสามารถพาใครก็ตามก้าวพ้นกำแพงที่สูงที่สุดในโลก

. . . . . . . .

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability arts)


มนุษย์สร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นเพื่อสร้างศรัทธา สร้างจิตสำนึกคุณธรรม จรรโลงใจ การศึกษา สื่อสาร นันทนาการ อาชีพและแทบจะทุกอย่าง ศิลปะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ที่ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิต ตั้งแต่มิติด้านกายภาพจับต้องได้ จนถึงมิติเชิงนามธรรม การให้คุณค่าความหมายและจิตวิญญาณ ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิของกลุ่มคนพิการ (Disability rights movement)ได้สัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของศิลปะในชีวิต ศิลปะเอื้อให้คนพิการเข้าถึงจิตภายในตนเอง และขณะเดียวกันสามารถส่งผ่านความคิดความรู้สึกถึงเพื่อนคนพิการด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กัน ศิลปะยังเป็นสื่อถ่ายทอดความคิดของกลุ่มคนพิการสู่ผู้คนในสังคมวงกว้างเกิดขึ้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability art movement)

ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ (Disability arts) เป็นการพัฒนาความหมายเชิงวัฒนธรรมร่วมกันของกลุ่มคนพิการ และการแสดงออกถึงประสบการณ์ที่มีต่อความพิการและการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิต อาจนำเสนอในเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ความคิดเชิงอคติที่คนพิการพบเจอ สะท้อนประสบการณ์จากการใช้ชีวิตร่วมกับความพิการ หรือท้าทายความคิดของคนพิการและผู้คนในสังคม

จุดมุ่งหมายของศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการอยู่ที่การสร้างผลกระทบเชิงการเมือง ทั้งในระดับตัวปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่มองค์กรของคนพิการและระดับสังคมวงกว้าง นั่นคือการสร้างสำนึกของความเป็นคนพิการ (Disability identity)การเป็นกลุ่มก้อนระหว่างคนพิการด้วยกัน ท้าทายความคิดที่คับแคบของสังคม ความคิดเหมารวม (Stereotype)ที่มีเกี่ยวกับความพิการ และความคิดที่จะรอคอยความพึ่งพิงของคนพิการ นอกจากนี้เป็นการตอบโต้กับความคิดดั้งเดิมที่ว่ากลุ่มคนพิการไม่สามารถร่วมสร้างสรรค์ในโลกของศิลปะได้ คนพิการเป็นเพียงผู้ถูกบำบัดรักษา

ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มคนพิการด้วยกันเอง เพื่อสร้างสำนึกเกี่ยวกับความพิการที่มีคุณค่าความหมาย และกลุ่มคนในสังคมทั่วไปเพื่อท้าทายทัศนคติดั้งเดิมและสร้างทัศนคติใหม่เชิงบวก
การสร้างงานศิลปะโดยคนพิการเป็นการดึงอำนาจกลับมาอยู่กับกลุ่มคนพิการ โดยให้คนพิการเล่าเรื่องและสร้างค่านิยมใหม่ขึ้นมาเองเพื่อทดแทนภาพลักษณ์เดิมที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้คนที่ไม่พิการและให้ความหมายความพิการว่าเป็นสัญลักษณ์ของความน่าสงสาร เคราะห์ร้าย บาปกรรม ความไร้สมรรถนะ และการทำบุญกุศล

ขบวนการศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการมุ่งสร้างให้เกิดสำนึกร่วมของความเป็นกลุ่มของคนพิการ เมื่อคนพิการมารวมตัวกันจะกลายเป็นพลังที่สนับสนุนการเติบโตของการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มคนพิการให้มีความเข้ทแข็งขึ้น

หากพิจารณาจากมิติด้านการแพทย์ ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจจำนวนมากไม่ได้บอกว่าตนเองเป็นคนพิการ ดังนั้นผู้ที่จะเข้าร่วมในขบวนการทางสังคมนี้จะต้องเกิดสำนึกในเรื่องการเป็นคนพิการ การเข้าร่วมกลุ่มและมุ่งสร้างสังคมที่ยอมรับและอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง









ภาพการ์ตูนโดย David Werner


ศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นโดยคนพิการ คนพิการจำนวนมากมีความรักและสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่คนพิการทุกคนอาจไม่ได้ทำงานศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการ คนพิการผู้ผลิตงานศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการจะต้องเป็นผู้ที่แสดงตนว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มคนพิการและมีความตั้งใจที่จะนำความรู้สึกหรือประสบการณ์จากความพิการไปใช้ในการสร้างงานศิลปะ ถึงแม้ว่าชิ้นงานนั้นจะไม่ได้เล่าเรื่องของความพิการออกมาโดยตรงก็ตาม แม่ศิลปินจะไม่ได้มีแก่นความคิด (Theme) ในเรื่องเกี่ยวกับความพิการในการทำชิ้นงานศิลปะ แต่ตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจะต้องมีความนึกคิดที่อยู่ในแนวทางที่เรียกว่า "วัฒนธรรมความพิการ" (Disability culture) กลุ่มศิลปินจะไม่ใช่ผู้ที่ยอมจำนนหรือพยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความเชื่อที่เป็นกฏเกณฑ์ของสังคมแบบเดิม ซึ่งทำให้คนพิการต้องรู้สึกอับอายขายหน้าหรือลดคุณค่าความเป็นตัวของตัวเอง แต่ศิลปินจะต้องแสดงออกถึงการยอมรับตนเองและภูมิใจในวิ๔ของตนเองซึ่งมีความพิการร่วมอยู่ด้วย

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงคำว่า "วัฒนธรรม" คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเรื่องของภาษา พิธีกรรม ประเพณี สำหรับในกลุ่มของคนพิการการเรียกว่าวัฒนธรรม ไม่ได้ปรากฏชัดในเรื่องทางกายภาพ แต่เป็นเรื่องของการรับรู้จากภายในตัวบุคคล กลุ่มคนพิการจะมีบุคลิกและประสบการณ์บางอย่างที่เหมือนกัน ดังเช่น การรู้สึก "การเป็นคนอื่น" ท่ามกลางกลุ่มคน การพัฒนาทักษะใหม่เพื่อดูแลตัวเองหลังจากมีความพิการ การเติบโตขึ้นในครอบครัวที่ตนเองมีความแตกต่างจากสมาชิกในครอบครัว การรับรู้ว่าผู้คนรอบข้างรู้สึกสงสารหรือเสียใจกับตัวเอง ไม่ว่าคนพิการจะเป็นผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ที่บ้าน หรือมีความพิการตั้งแต่กำเนิดหรือภายหลัง คนพิการทุกคนล้วนมีประสบการณ์ที่เหมือนกันอยู่หลายประการ ความรู้สึกเหล่านี้เองเป็นรากฐานของวัฒนธรรมความพิการวัฒนธรรมความพิการยอมรับว่ามีความแตกต่างระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเสียใจในการดำเนินชีวิต

การสร้างความเติบโตของวัฒนธรรมความพิการก็คือ การเปลี่ยนคนพิการจากการเป็นผู้รอรับและคอยพึ่งพา กลายเป็นผู้ที่กระตือรือร้นและกลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างภาพลักษณ์ใหม่เกี่ยวกับความพิการไปในเชิงบวก

การกล่าวถึงงานศิลปะ อาจเป็นศิลปะในแขนงต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี ละคร ภาพยนตร์ กวี จะต้องหมายถึงศิลปะที่ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความเป็นมืออาชีพและมีมาตรฐาน ความพิการไม่ใช่เป็นปัจจัยที่ทำให้ละเลยในเรื่องการพิจารณาถึงคุณภาพงานศิลปะได้

ขบวนการเคลื่อนไหวในเรื่องศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปและออสเตรเลีย ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในแวดวงการศึกษาและศิลปะ เพื่อขยายแนวคิด มีโครงการในสถาบันการศึกษาและองค์กรที่ตั้งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการศึกษาและการทำงานศิลปะสำหรับกลุ่มคนพิการอย่างหลากหลาย สนับสนุนด้านเงินทุน บุคลากร ความรู้เชิงเทคนิคและอื่นๆ เพื่อให้คนพิการเพิ่มพูนทักษะฝีมือและความคิด พัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพ การทำงานขององค์กรจะเปิดรับผู้ที่สนใจทั้งกลุ่มคนพิการและกลุ่มคนไม่พิการ ให้มีการทำงานร่วมกัน การจัดตั้งเครือข่ายศิลปะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแจ้งความเคลื่อนไหวของกิจกรรม การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการ เช่น Media AccessAwards ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรางวัลที่ให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมบันเทิง ผู้ที่สามารถแสดงภาพลักษณ์ของคนพิการได้อย่างถูกต้อง ใช้สื่อเพื่อสร้างความเข้าใจในสังคม ส่งเสริมโอกาสให้คนพิการเข้าทำงานและร่วมกิจกรรมในสังคมได้เต็มที่ สถาบันศิลปะบอร์นเม้าท์ (the Arts Institute of Bournemouth)ในประเทศอังกฤษ จะเปิดการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาศิลปะว่าด้วยเรื่องความพิการในปีการศึกษา 2551

ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและความพิการในประเทศไทยปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าอยู่ในขั้นเริ่มต้น คือการใช้ศิลปะเพื่อการบำบัด กลุ่มคนพิการมิได้มีการจัดการเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์เชิงสังคมหรือการเมือง ส่วนใหญ่ศิลปะถูกนำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการบำบัดรักษาโรค ระบายความรู้สึกหรือผ่อนคลายอารมณ์ที่เรียกว่าศิลปะบำบัด (Art therapy) ดังพบเห็นในสถานพยาบาล สถานศึกษา มูลนิธิที่จัดบริการฝึกอาชีพให้แก่คนพิการ สถานสงเคราะห์

กลุ่มละครใบ้ของกลุ่มคนหูหนวกมีความน่าสนใจและเป็นสื่อสะท้อนมุมมองของกลุ่มคนหูหนวกที่มีต่อเรื่องราวความเป็นไปในสังคมบางคราวการแสดงละครที่แสดงให้ดูภายในกลุ่มคนหูหนวกด้วยกันมีเนื้อหาเป็นความบันเทิงผสมกับการเสียดสีเกี่ยวกับเรื่องในองค์กรหรือการใช้ชีวิตของคนหูหนวก












กลุ่มคนพิการใช้ศิลปะการแสดงเพื่อส่งเสริมให้คนพิการแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ประสานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนพิการเข้ากับผู้คนในสังคม ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับความพิการ โดยที่สมาชิกในกลุ่มจะเป็นคนพิการและคนไม่พิการทำงานร่วมกัน

การแสดงนิทรรศการ "ศิลปะดำรงชีวิตอิสระ Art for Independent Living" หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2551 ของกลุ่มสมาชิกในขบวนการการดำรงชีวิตอิสระคนพิการเป็นการพยายามที่จะสื่อสารวิถีการดำรงชีวิตของคนพิการระดับรุนแรงออกสู่สังคมวงกว้าง งานบางชิ้นถูกใช้ถ่ายทอดความรู้สึกและแสดงออกถึงประสบการณ์จากความพิการ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วเห็นว่าผู้ชมยังไม่สามารถรับสาส์นที่ต้องการสื่อออกมาผ่านงานศิลปะได้ตามที่คาดหวัง รวมทั้งอาจเห็นเพียงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัดคนพิการรุนแรง
อย่างไรก็ดี กลุ่มยังคงต้องการการสั่งสมด้านทักษะ การสร้างความคิดที่คมชัดเชิงสังคมและการเมือง ตลอดจนการพัฒนาเชิงจิตวิญญาณ หากต้องการพัฒนาไปสู่การสร้างงานในเชิงศิลปะว่าด้วยความพิการต่อไปในอนาคต


ศิลปะประติมากรรมหินอ่อน สูง 11 ฟุต 6 นิ้ว 'Alison Lapper Pregnant' ได้รับการคัดเลือกให้ติดตั้งแสดงที่จตุรัสทราฟังกร้า เมืองลอนดอนระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 - เดือนเมษายน พ.ศ. 2549 แมคควิน ศิลปินชาวอังกฤษ ปั้นรูปของ อลิสัน แลปเปอร์ เพื่อนศิลปินผู้ไม่มีแขนและมีช่วงขาที่สั้น ตอนที่ตั้งครรภ์ 8 เดือน และกล่าวให้อลิสันเป็นสัญลักษณ์ของฮีโร่หญิงยุดใหม่ที่มีความเข้มแข็งและเปี่ยมด้วยความหวัง ซึ่งสร้างความรู้สึกตรงกันข้ามกับรูปปั้นของ 'Boudicca' ซึ่งเป็นการแสดงถึงชัยชนะของผู้ชาย ที่ตั้งอยู่บริเวณตรงกันข้ามในจตุรัส แมคควิน ต้องการนำเสนอทั้งในเรื่องของสตรี ความพิการ และความเป็นแม่


















แมท ซีซอว์ (Matt Sesow) ศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวว่าพลังผลักดันในการทำงานของเขามาจากความพิการของตนเอง ซึ่งเกิดจากอุบัติเหตุในวัยเด็กและต้องตัดแขนข้างซ้ายออก หลังจากที่แมทเริ่มวาดรูป เขาเริ่มมีความเชื่อมั่นและเลิกใส่แขนเทียม เขารู้สึกมีอิสระ ไม่ต้องพยายามเสแสร้งแสดงในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง ผลงานของแมทกล่าวถึงเรื่องในชีวิตของเขา ตลอดจนถึงเรื่องสังคม การเมือง









































ทันย่า ราบี้ (Tanya Raabe) ศิลปินชาวอังกฤษ ใช้งานวาดภาพ portrait เพื่อท้าทายความคิดเรื่องความงาม ความสมบูรณ์แบบและความเป็นปกติที่คนในสังคม "ต้องมี" ดังในชื่องาน Me myself and I, Ann in conference ส่วนงานชุด Who's Who-Defining Faces of an Arts Movement : Faces เป็นการมองใบหน้าของเพื่อนศิลปินที่อยู่ในขบวนการ Disability Art Movement และแสดงความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนเหล่านั้น





















"Great Britain from a Wheelchair" โดย โทนี่ ฮีตัน (Tony Heaton) ศิลปินชาวอังกฤษ รูปแผนที่ประเทศอังกฤษที่ทำขึ้นจากรถเข็นจากโรงพยาบาล 2 คัน ความรู้สึกปฏิเสธที่เกิดขึ้นจากผู้ชมงานสะท้อนถึงการตัดสินให้คุณค่าที่มีอยู่โดยปริยายต่อรถเข็น

















Parking Zone for Disabled โดย Sofia Youshi ศิลปินชาวยุโรป แนวคิด : ความพิการเป็นผลกระทบเชิงสังคมต่อความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์หรือจิตใจ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ขจัดอุปสรรคสิ่งกีดขวางในสังคมทั้งด้านสถาปัตยกรรม การสื่อสาร ทัศนคติและกฏระเบียบ ซึ่งกั้นไม่ให้คนพิการเข้าร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่










บทความจากนิตยสาร Fine Art , Vol.5 , No.44 , June 2008
ตัวอย่างและภาพประกอบโดย กมลพรรณ พันพึ่ง

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ก็แค่ความไม่สะดวกเล็ก ๆ : วินทร์ เลียววาริณ

ลอร์ด เนลสัน แม่ทัพเรือผู้ยิ่งใหญ่ เป็นคนเมาคลื่น

โฮราทิโอ เนลสัน เป็นเด็กร่างผอมเล็ก ป่วยเป็นประจำ เมื่ออายุสิบสองขวบ พ่อจึงส่งไปเป็นลูกเรือ เนลสันใช้เวลาหลายปีไต่เต้าจนเป็นกัปตันเรือ

เมื่อนโปเลียน โบนาปาร์ต ยาตราทัพไปทั่วยุโรป เนลสันก็เข้าสู่สงคราม สู้รบจนได้รับบาดเจ็บ ตาข้างขวาบอด และในสงครามครั้งถัดมา เขาก็เสียแขนขวา

หากเป็นกัปตันคนอื่น ก็คงเลิกประจำการไปแล้ว แต่เนลสันไม่ยอมเลิก เขาประจันหน้าทัพนโปเลียนที่อียิปต์ เอาชนะศัตรูอย่างงดงาม ในสงครามครั้งนี้ เขาบาดเจ็บที่ศีรษะ สมองถูกกระทบกระเทือน แต่เขายังคงไม่ยอมเลิก

ในสงครามใหญ่ครั้งหนึ่ง ผู้บัญชาการของเนลสันส่งสัญญาณให้เขาถอยหนีข้าศึก เนลสันหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมามองด้วยตาข้างขวา และบอกว่า "ไม่เห็นมีสัญญาณอะไรเลยนี่หว่า" เมื่อยืนหยัดสู้ ทัพเรือของเขาก็ชนะข้าศึก

ในสงครามครั้งสุดท้ายของเขา เนลสันต่อกรกับทัพเรืออันเกรียงไกรของฝรั่งเศส-สเปน เนลสันถูกนักแม่นปืนศัตรูยิงบาดเจ็บสาหัส นอนรอความความตายอยู่หลายชั่วโมง แต่เขาก็ไม่ยอมตายจนกว่าจะได้ยินว่าทัพเรือของตนชนะ

นานมาแล้ว ผมอ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งที่สอนว่า เวลาเผชิญปัญหาใด ๆ เช่นความป่วยไข้ ความผิดหวัง ฯลฯ ให้บอกตัวเองว่า ปัญหานั้นก็เป็นเพียง "just a little inconvenience" (ก็แค่ความไม่สะดวกเล็ก ๆ)

ปัญหาในโลกนี้แบ่งออกเป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งคือปัญหาจริง อย่างหนึ่งคือปัญหาที่ฝันขึ้นเอง (Imaginary problem)

หากพิจารณาดูตัวปัญหาของเราให้ดี อาจพบว่าบางปัญหาเป็นเพียงจินตนาการเชิงลบเท่านั้น เช่น "ตายแน่เลยถ้าเราขายงานนี้ไม่ผ่าน" หรือ "หน้าตาอย่างเรา ใครเขาจะเหลียวแล" ฯลฯ

ที่ตลกก็คือ แม้แต่ปัญหาจริงก็ยังมีการแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ใบหน้ามีสิวสำหรับคนหนึ่งอาจเป็นเรื่องใหญ่โตถึงขนาดจะฆ่าตัวตาย สำหรับอีกคนอาจเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง

การตกงานสำหรับคนหนึ่งคือความล้มเหลวเลวร้าย สำหรับอีกคนหนึ่งอาจเป็นประตูสู่ชีวิตใหม่

เมื่อพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน จะพบว่าส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่เราจินตนาการเอง และอีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่เราทำให้มันหนักหนากว่าตัวปัญหา เช่น เห็นหมูเท่าช้าง อาจเหลือปัญหาจริง ๆ ไม่ถึงหนึ่งในสิบ

ดังนั้น ท่าที (attitude) ต่อปัญหา จึงสำคัญมากกว่าตัวปัญหาเอง

พูดง่าย ๆ คือ ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นปัญหา มันก็เป็นปัญหา

ถ้าคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ มันก็เป็นปัญหาใหญ่ และถ้าคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก มันก็รบกวนเราได้แค่ "ความไม่สะดวกเล็ก ๆ"...

...........

วินทร์ เลียววาริณ

www.winbookclub.com

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เพราะแบ่งแยก จึงแตกต่าง

เคยฟังเพลง "นกเขาไฟ" ของน้าหมู-พงษ์เทพ ไหม


ภูบ่สูง แต่ว่าห้วยมันลึก

ภูบ่ลึก แต่ว่าเมืองมันไกล

ภูบ่เล็ก แต่ว่าฟ้ามันใหญ่ . . . . .



ใช่หรือไม่ว่า
คนเรามักแบ่งแยกสิ่งที่เราเห็น เพื่อเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น
ทั้งๆ ที่สองสิ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกัน แต่การนำมาเปรียบเทียบกันด้วยมาตรวัดบางอย่าง

ทำให้ สิ่งหนึ่งดี สิ่งหนึ่งเลว

ทำให้ สิ่งหนึ่งถูก สิ่งหนึ่งผิด


ทั้งๆ ที่สองสิ่งอาจไม่แตกต่าง หากเปรียบเทียบด้วยมาตรวัดอีกอย่าง



หากเราเห็นเพียงภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ สองภาพ เราก็คงคิดเพียงแค่ว่า

มันก็มีความสวยงามเหมือนๆ กัน

แต่ถ้าเรารู้ว่า ภาพหนึ่ง เกิดจากการวาดที่ไม่ได้ใช้มือล่ะ













เช่นกัน
หากคุณได้ยินเสียงใครคนหนึ่งกำลังอ่านหนังสือ โดยที่ไม่รู้ว่าเขาอ่านอย่างไร ก็คงไม่แตกต่าง

แต่ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปไหม ถ้าเห็นเขาอ่านด้วยอักษรเบรลล์













และ

การประลองความเร็วโดยใช้ยานพาหนะ วัดกันที่เวลาจากจุดเริ่มต้นจนกระทั่งเข้าเส้นชัย

จะแตกต่างไหมถ้ารู้ว่า เขาใช้มือในการหมุนวงล้อแทนการปั่นด้วยเท้า














คุณยังคิดว่า

คุณคือคนปกติ เพียงเพราะว่าเขามีไม่ครบสามสิบสอง อยู่หรือเปล่า


ลองเปลี่ยนมาตรวัดจาก "อาการครบสามสิบสอง" มาเป็น "คุณค่าแห่งความเป็นคน"

นิยามของคำว่า "คน" อาจเปลี่ยนไป




วัชระ คุณานุพงศ์

๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๒

พ่ายแพ้อย่างสง่างาม : วินทร์ เลียววาริณ

เจ้าหญิงแห่งออสเตรีย มารี อังตัวเน็ตต์ ประสูติเมื่อปี ค.ศ. 1755 ทรงสิริโฉมงดงาม เส้นเกศาสีบลอนด์ พระเนตรสีทะเล ทรงสนพระทัยดนตรีและศิลปะ เคยเล่นดนตรีคู่กับโมสาร์ทหลายครั้ง

สงครามและสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปห้วงเวลานั้นทำให้ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงถูกบังคับให้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายดอฟิน หลุยส์-ออกัสท์ แห่งฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1774 กษัตริย์หลุยส์ที่ 15 สวรรคต พระสวามีของพระนางทรงขึ้นบัลลังก์เป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 มารี อังตัวเน็ตต์ ก็ทรงกลายเป็นราชินีฝรั่งเศส ทว่าทรงไม่ใช่ราชินีในฝันของประชาชน มิใช่เพราะชาติกำเนิดออสเตรีย ผู้คนวิพากษ์พระนางที่ทรงใช้ชีวิตหรูหราฟุ้งเฟ้อในราชสำนัก งานเลี้ยง ละคร การพนัน การแต่งพระองค์ ฯลฯ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนกำลังอดอยากยากแค้น

เล่าขานกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า เมื่อ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงได้ยินว่าประชาชนอดอยากไม่มีกินแม้แต่ขนมปังขึ้นรา พระนางตรัสว่า "ก็ให้พวกเขากินเค้กสิ"

กลายเป็นคำคมประจำศตวรรษ ทว่าในกาลต่อมา นักประวัติศาสตร์หลายคนแย้งว่า ความจริง มารี อังตัวเน็ตต์ ไม่เคยทรงเอ่ยประโยคนั้น เป็นการสร้างกระแสเกลียดชังพระนางต่างหาก

ในปี ค.ศ. 1789 ไฟปฏิวัติกำลังคุกรุ่น ฝรั่งเศสก้าวย่างสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความรุนแรง หลังจากประชาชนบุกเข้าทำลายคุกบาสติลล์ในวันที่ 14 กรกฎาคม แม้ชีวิตของพระนางจะอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง แต่ มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงมิได้หลบหนีไปเช่นหลายคนในราชสำนัก ยืนหยัดเคียงข้างพระสวามีที่อำนาจในพระหัตถ์ลดน้อยลงไปทุกวัน การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ราชวงศ์ถูกควบคุมตัวเป็นนักโทษ ขึ้นศาลประชาชนข้อหาทรยศแผ่นดิน ในวันที่ 21 มกราคม 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงถูกศาลประชาชนตัดสินประหาร

มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ววาระสุดท้ายของพระนางจะมาถึง แต่ทรงปฏิเสธแผนการช่วยพระนางหนีออกไปจากคุกทุกแผน

วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1793 มารี อังตัวเน็ตต์ ในสถานะนักโทษหมายเลข 280 ประทับยืนอยู่ต่อหน้าศาล แม้ทรงรู้ว่าคำพิพากษาประหารนั้นถูกกำหนดมาก่อนแล้ว แต่ก็ทรงตอบคำถามและโต้ข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน เยือกเย็น ทรงยืนรับฟังคำตัดสินประหารชีวิตอย่างสงบนิ่ง แม้แต่คนที่เกลียดชังพระนางก็ยังยกย่องความองอาจนั้น

สองวันต่อมา มารี อังตัวเน็ตต์ พระชนมายุสามสิบเจ็ดพรรษา ทรงเขียนจดหมายลาตาย เวลาสิบโมงเช้าวันนั้น ราชินีสัญชาติออสเตรียในภูษาเรียบสีขาวก็ดำเนินสู่ลานประหารอย่างเงียบสงบ

ชั่วขณะหนึ่ง พระนางทรงเผลอเหยียบเท้าของชายคนหนึ่ง เอ่ยคำขอโทษอย่างสุภาพ แล้วถูกบั่นเศียรด้วยคมกิโยติน

แม้ว่า มารี อังตัวเน็ตต์ ทรงมิใช่ราชินีที่ดีในสายตาของประชาชน แต่ความสงบและความกล้าหาญของพระนางที่เผชิญหน้าความตายอย่างไม่พรั่นพรึง ทำให้หลายคนมองพระองค์ต่างจากเดิม

เมื่อแพ้แล้วก็ยอมรับชะตากรรมอย่างสง่างาม ไม่ตีโพยตีพาย ไม่เป็นขี้แพ้ชวนตี ไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น

ไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือไม่ดี ขนาดของหัวใจทำให้คนคนหนึ่งยิ่งใหญ่กว่าอีกคนหนึ่ง


วิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาไม่นานมานี้ฉายภาพให้เราเห็นผู้นำที่บริหารองค์กรขนาดยักษ์ผิดพลาดใกล้ล้มละลายจนรัฐต้องเข้ามาโอบอุ้ม แต่ผู้นำเหล่านี้ก็เห็นแก่ตัวฉกฉวยเอาเงินช่วยเหลือเป็นโบนัสของตัวเอง แทนที่จะช่วยองค์กรและลูกน้องก่อน

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเรือโดยสารแตก กัปตันเรือก็ทิ้งผู้โดยสารลงเรือเล็กหนีไปก่อน

ประวัติศาสตร์หลายพันปีนี้ยังเต็มไปด้วยผู้นำที่หนีทัพ ผู้นำที่หนีหลังโกงกินจนชาติล่มจม ผู้นำที่หนีคดีฉ้อราษฎร์ ฯลฯ

แต่สำหรับผู้นำที่เข้าใจกติกาของเกมการเมือง ความไม่แน่นอนของอำนาจ และมีขนาดของหัวใจยิ่งใหญ่กว่าคนธรรมดา เมื่อล้มลงแล้ว ก็ยืดอกรับชะตากรรมนั้น และสามารถยิ้มเยาะความตายแม้มันมารออยู่ตรงหน้า



คมคำคนคม

Courage is doing what you're afraid to do.
ความกล้าคือการทำสิ่งที่คุณกลัวที่จะทำ

Edward Vernon Rickenbacker



It is easy to be brave from a safe distance.
เป็นการง่ายที่จะกล้าจากระยะที่ปลอดภัย

นิทานอีสป


วินทร์ เลียววาริณ
http://www.winbookclub.com/